Brand Design in New Normal Era
สถานการณ์ Covid-19 ในปัจจุบัน เป็นตัวเร่งให้เกิดการปรับตัวครั้งใหญ่ จากเดิมที่ผู้บริโภคส่วนหนึ่งที่ยังติดการซื้อแบบ Offline หันเข้ามาใช้ Online กันมากขึ้น ผู้ค้าหลายแบรนด์ก็ต้องปรับกลยุทร์ การขายกันยกใหญ่ บางแบรนด์ก็ทำการตลาด Online มานานแล้ว หลายแบรนด์ก็ไม่ได้ทำจริงจัง บางแบรนด์ไม่เคยทำเลยก็มี!
ปัจจุบันมี Platform Online เกิดขึ้นมากมาย และช่วยอำนวยความสะดวกให้ผู้ขายและผู้ซื้อได้ใช้ง่าย รวดเร็ว ปลอดภัย ผู้บริโภคหลายคนที่เข้ามาเริ่มลองใช้บ่อยขึ้น จนรู้สึกว่าไม่ยาก และส่วนใหญ่ก็คิดว่าน่าจะซื้อ Online มานานแล้ว เพราะสะดวกไม่ต้องเดินทาง ค่าส่งไม่ได้แพงอย่างที่คิด และหลังจากนี้ถึงไม่มีโรคระบาด พฤติกรรมการใช้ Online ก็น่าจะกลายเป็นที่นิยมจนเป็นเรื่องปกติ
ในโลกดิจิทัล ลูกค้าจะค้นพบแบรนด์มากมาย และเมื่อผู้บริโภคตัดสินใจซื้อ หรือใช้บริการโดยผ่านหน้าจอ 100% แบรนด์ของคุณควรจะมีอะไรบางอย่าง ที่จะช่วยสร้างประสบการณ์ที่แตกต่าง และความประทับใจให้กับผู้บริโภค ให้เกิดความรู้สึกดี มั่นใจ และกลับมาใช้ซ้ำหรือบอกต่อ
Branding ที่ควรจะยืดหยุ่นและเหมาะสมบนสื่อดิจิทัล
“Branding หรือการสร้างแบรนด์ต้องทำให้เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต และแบรนด์นั้นควรปรับตัวไปกับการเปลี่ยนแปลงของลูกค้า จึงจะเติบโตได้อย่างยั่งยืน” การสร้างคาแรคเตอร์ ออกแบบ จำกัดความ ภาพลักษณ์ของแบรนด์ ควรคิดให้ดีและรอบคอบ ก่อนที่จะสื่อสารออกไปสู่สายตาของผู้บริโภคในช่องทางต่างๆ เพื่อจะได้สื่อสารไปในทิศทางเดียวกัน ผู้บริโภคเข้าใจตรงกันไม่สับสน
Brand Corporate Identity
หรือที่มักเรียกกันว่า Brand CI เป็นส่วนสำคัญของการสร้างแบรนด์ หลัก ๆ จะประกอบไปด้วย
• วัฒนธรรมและบุคลิกภาพของแบรนด์
• องค์ประกอบในการออกแบบ โลโก้ สี ตัวอักษร รูปภาพ ฯลฯ
ไม่ว่าแบรนด์จะทำกิจกรรมการตลาดใดๆ ก็ตาม CI เปรียบเสมือนกฎที่ทุกคนต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด กิจกรรมการตลาดบนโลกดิจิทัลก็เช่นกัน คุณควรที่จะต้องสำรวจ Brand CI ของคุณ ณ ตอนนี้ว่าใช้งานได้ดี บน Platform ต่างๆ หรือไม่ มีความแตกต่าง สวยงาม จดจำง่าย รวมถึงแสดงผลได้ดีบนจอขนาดเล็กอย่างโทรศัพท์มือถือหรือไม่ เพราะ Brand CI ที่ดีจะมีพลังที่จะทำให้ผู้บริโภคเกิดความรู้สึกที่ดี และเกิดอารมณ์ร่วมไปด้วยกัน แบรนด์ชั้นนำต่างๆ มักจะใช้ผู้ที่ชำนาญในการคิดค้นหาตัวตนของแบรนด์ในทุกมิติ ก่อนนำออกมาเสนอต่อผู้บริโภค
เมื่อ Brand CI ของคุณพร้อมทำหน้าที่สื่อสารความเป็นเอกลักษณ์และตัวตนของแบรนด์กับผู้บริโภค เรามาดูกันว่า Platform ต่าง ๆ เปรียบได้กับอะไร
Website เปรียบเสมือนบ้านของ Brand บนโลกดิจิทัล
เพราะเราสามารถที่จะดีไซน์และควบคุมให้ออกมาตาม Brand CI ได้อย่างอิสระนั่นเอง รวมทั้งข้อมูลต่างๆ บนเว็บจะช่วยให้ลูกค้าได้เชื่อถือและเชื่อมั่นในแบรนด์ของคุณได้เป็นอย่างดี เพราะในปัจจุบัน เมื่อผู้บริโภคเริ่มมีความสนใจแบรนด์ใดก็ตามแต่ยังไม่รู้จัก ก็จะค้นหาใน Google ถ้าหาข้อมูลไม่เจอหรือไม่ชัดเจน คุณจะเสียโอกาสทันที ภาพด้านล่างคือตัวอย่างของ Web แบรนด์ต่างๆ สังเกตได้ว่า design mood and tone จะทำได้อย่างอิสระตามที่แบรนด์อยากจะให้เป็น
Social Media เป็นกระบอกเสียงของแบรนด์
Social Media เช่น Facebook, IG, Line เป็นตัวช่วยสร้าง Engagement ระหว่างแบรนด์กับผู้บริโภคได้เป็นอย่างดี มีความรวดเร็ว เข้าถึงง่าย และมีต้นทุนที่ไม่สูง
ทั้ง Website และ Social Media มีข้อดีที่แตกต่างกัน แต่สิ่งที่แบรนด์จะสื่อสารออกไปให้ไปในทิศทางเดียวกันนั้นก็คือ Brand CI นั่นเอง
3 สิ่งใน Brand CI ที่ควรจะให้ความสำคัญบนโลก Digital
01 Logo and Graphic Element
นอกจากชื่อแบรนด์แล้ว สิ่งที่จะทำให้เราแตกต่างจากแบรนด์อื่นคือ โลโก้ ซึ่งโลโก้ที่ดีนั้นก็ควรเป็นโลโก้ที่มีเอกลักษณ์ ไม่ซ้ำหรือคล้ายกับของใคร เพื่อป้องกันการจำผิด เราสามารถเล่าเรื่องราวของบริษัทเราแบบสั้นๆ รวมถึงแสดงบุคลิกของแบรนด์ได้ผ่านโลโก้ เช่น แบรนด์ของเราดูนิ่งเรียบเท่ หรือดูสนุกสนานขี้เล่น หรือดูหรูหรา
อีกส่วนคือ Graphic Element บางแบรนด์มีลวดลายกราฟิกบางอย่างก็สามารถรับรู้ได้ทันทีว่าเป็นของอะไร ที่สำคัญคุณควรจะสำรวจว่า Logo ของคุณนั้น ทำงานได้ดีบนสื่อดิจิทัลหรือไม่ ถ้าไปอยู่หน้าจอแสดงผลเล็กๆ ยังมองออกไหมว่าแบรนด์อะไร หรือระบบการใช้โลโก้ได้ถูกคิดมาว่า Platform ไหนควรใช้ยังไงได้บ้าง มีความสอดคล้องกันไหม (Consistency)
02 Visual Identity
บนโลกดิจิทัล Visual หรือภาพนั้นสำคัญอย่างมาก เพราะลูกค้าจะตัดสินใจซื้อจากภาพที่ดูดีและดึงดูด ช่วยสร้างอารมณ์ร่วมได้นั้นเอง การใช้ภาพที่ดีก็ควรจะมี Mood and Tone ไปตามบุคลิกภาพของ Brand นั่นเอง เช่น Brand Muji ที่มีบุคลิก Minimal and Simple ภาพที่ลงใน Website กับภาพที่โพสลง Facebook จะเป็นภาพที่มี ทิศทางที่ไปทางเดียวกัน Brand Electrolux ไม่ว่าภาพจะสื่อสารเรื่องอะไร ภาพส่วนใหญ่จะเป็นภาพถ่ายจากแสงธรรมชาติเสมอ เพื่อให้ดูสมจริงและมีชีวิต สะท้อน Lifestyle ไม่ใช่การจัดแสงแบบสตูดิโอที่ต้องการความชัดทุกมุม
03 Tone of Voice
คือสำเนียง ข้อความ และคำพูดของแบรนด์ เริ่มจากคุณอยากให้แบรนด์ของคุณมีคุณค่าอะไรในสายตาผู้บริโภค โดยใช้การสื่อสารถ่ายทอดเป้าหมายเหล่านั้นออกมาให้ตราตรึงในใจกลุ่มเป้าหมาย คุณค่าอะไรที่คุณอยากบอกให้โลกรับรู้? เพื่อที่จะได้ตัดสินใจว่าจะสื่อสารออกไปอย่างไร นี่คือจุดเริ่มต้นที่คุณจะสามารถนิยามวัตถุประสงค์หลักในการสื่อสารของแบรนด์คุณ เพื่อนำไปสู่การสร้าง Tone of Voice นั้นเอง เช่น Brand Nike จะสื่อสารไปในทิศทางของความ Active ความกล้าเป็นตัวของตัวเอง เอาชนะขีดจำกัด อีกทั้งภาษาที่ใช้ยังมีความทันสมัย ทำให้คนที่ใช้สินค้าแบรนด์ Nike รู้สึกว่าเราเป็นคนรุ่นใหม่ และเป็นหนุ่มเป็นสาวอยู่ตลอดเวลา อย่างที่ทุกๆ คนต้องการที่จะเป็นนั่นเอง
ในการสื่อสารบนโลกดิจิทัลข้อความต่างๆ ควรกระชับและสื่อให้ตรงวัตถุประสงค์มากที่สุด ตลอดไปจนถึงการตอบข้อความต่างๆ ในช่องคอมเม้นท์หรือแชท แบรนด์คุณจะเป็นใคร ชายหรือหญิง พูดในโทนลักษณะอย่างไร ก็ควรจะถูกกำหนดไว้บน Social Media ต่างๆ (Facebook, IG, Line) แบรนด์ของคุณควรใช้ภาษาที่เป็นมิตร ไม่เป็นทางการมากเกินไป และเข้าถึงความรู้สึกของผู้รับสาร พูดในสิ่งที่เขาอยากฟัง นั่นจะทำให้ผู้อ่านรู้สึกเข้าถึได้และคุ้นเคย สามารถจดจำและมีอารมณ์ร่วมไปกับภาษาที่ใช้ได้อย่างดี แต่ก็ยังคงจุดยืนของแบรนด์ไปพร้อมกัน
บทสรุป
คงจะเห็นแล้วว่าการที่จะให้แบรนด์ของเรานั้นเข้าไปอยู่ในหัวใจของกลุ่มเป้าหมายนั้น Brand CI มีความสำคัญมากแค่ไหน ไม่ใช่แค่แบรนด์ใหญ่ที่จะต้องทำ CI เสมอไป ธุรกิจ SME หรือธุจกิจขนาดกลาง ที่มีคู่แข่งอยู่มากมายมหาศาล ถ้าภาพลักษณ์ไม่โดดเด่น ไม่แตกต่าง ไม่มีเสน่ห์ ไม่มีใครจดจำได้ มันย่อมกระทบกับความเติบโตของธุรกิจอย่างแน่นอน
เพราะฉะนั้นแล้ว การออกแบบ CI ให้มีความชัดเจน มีเอกลักษณ์ และเหมาะสม เป็นเรื่องสำคัญของการสร้างแบรนด์อย่างแท้จริง การได้มาซึ่ง CI ที่ดีนั้น ต้องออกแบบขึ้นมาจาก “ความเข้าใจเป็นหลัก” เข้าใจตัวตนของแบรนด์ เข้าใจความต้องการของผู้บริโภค และเข้าใจจุดลงตัวของทั้งสองฝั่งนั่นเองครับ